ฝนตกหนัก น้ำล้นเขื่อน นับเป็นภัยที่เราๆท่านๆต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะได้รับมือได้ทันหรืออย่างน้อยๆก็บรรเทาความเดือดร้อนลงได้บ้างจากภัยน้ำท่วมที่อาจต้องประสบ น้ำท่วม” หรือ “อุทกภัย” ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในประเทศไทยบ่อยครั้ง โดยเฉพาะช่วงฤดูฝน หรือมีพายุตามฤดูกาลเข้ามาเยี่ยมเยือน สิ่งที่มักจะตามมาอย่างปฏิเสธไม่ได้คือ “ความเสียหาย” ทั้งในมิติของชีวิต และทรัพย์สิน
”ภัยเนื่องจากน้ำ” หมายถึง ความเสียหายที่เกิดจากการปล่อย การรั่วไหล หรือการล้นออกมาของน้ำหรือไอน้ำ จากท่อน้ำ ถังน้ำ ระบบทำความร้อน ระบบทำความเย็น ระบบปรับอากาศ เครื่องสูบน้ำ และรวมถึงน้ำฝนที่ไหลผ่านเข้าไปภายในอาคารจากความเสียหายของหลังคา หน้าต่าง ประตู วงกบประตูหน้าต่าง ช่องลม ช่องรับแสงสว่าง ท่อน้ำหรือรางน้ำ ไม่รวมถึงน้ำไหลบ่า น้ำท่วมจากภายนอกอาคาร หรือน้ำที่ซึมผ่านเข้ามาทางผนัง ทางฐานรากและพื้นของอาคาร การล้างท่อระบายน้ำ การแตกหรือรั่วไหลจากระบบท่อประปาใต้ดินหรือท่อดับเพลิงใต้ดิน ซึ่งเป็นท่อเมนอยู่นอกสถานที่ที่เอาประกันภัยหรือระบบพรมน้ำดับเพลิงอัตโนมัติ
“ภัยน้ำท่วม” หมายถึง น้ำที่ไหลหรือเอ่อล้นออกจากทางน้ำไม่ว่าเป็นทางน้ำธรรมชาติหรือทางน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้น ด้วยเหตุนี้นอกจากจะเตรียมการป้องกันภัยน้ำท่วมด้วยวิธีการต่างๆแล้ว ต้องศึกษากรมธรรม์ประกันภัยบ้านหรือทรัพย์สินหรือกรมธรรม์ประกันภัยในรูปแบบอื่นๆด้วยว่า มีเงื่อนไขความคุ้มครอง ”ภัยน้ำท่วม” ด้วยหรือไม่
การเตรียมความพร้อมเพื่อรับสถานการณ์เหล่านี้ จึงเป็นเกราะป้องกันที่ช่วยลดแรงกระแทกของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเมื่อ “ภัยธรรมชาติ” เกิดขึ้น โดยเฉพาะทรัพย์สินขนาดใหญ่ อย่าง “บ้าน” หรือ “ที่อยู่อาศัย” ซึ่งต้องเผชิญกับน้ำท่วมแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” จึงจะพาไปทำความรู้จักกับ “ประกันภัยสำหรับที่อยู่อาศัย” ตัวช่วยรับมือเมื่อน้ำท่วมบ้านที่ช่วยให้เจ็บตัวน้อยที่สุด การทำประกันภัยสำหรับที่อยู่อาศัยหลักๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองเมื่อได้รับผลกระทบจาก “น้ำท่วม” แบ่งออกได้เป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ ประกันอัคคีภัย และประกันภัยพิบัติ
“ประกันอัคคีภัย” เป็นการทำประกันภัยสำหรับที่อยู่อาศัยที่กฎหมายบังคับให้ผู้ครอบครองกรรมสิทธิ์ทำเพื่อป้องกันภัยจากไฟเป็นหลัก โดยประเภทนี้จะให้ความคุ้มครองในระยะสั้น เช่น 1 ปี หรือ 2 – 3 ปี ค่าเบี้ยประกันจะขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทและลักษณะของอาคาร โดยจะให้ความคุ้มครองภัย 6 อย่าง ได้แก่ ไฟไหม้ ฟ้าผ่า ระเบิด ภัยจากยานพาหนะ ภัยจากอากาศยาน และภัยเนื่องจากน้ำ
แต่เงื่อนไขของ “ภัยเนื่องจากน้ำ” ณ ทีน้ี ครอบคลุมแค่กรณีภัยหรือความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยอุบัติเหตุจากน้ำเท่านั้น เช่น น้ำรั่ว น้ำไหลล้นจากท่อน้ำ ถังน้ำ รวมถึงน้ำฝนที่ผ่านเข้าทางท่ออากาศที่ชำรุด โดยไม่รวมถึง “ภัยน้ำท่วม” ที่เป็นภัยธรรมชาติ และท่อประปาที่แตกจากนอกอาคาร ดังนั้น การทำประกันอัคคีภัยจึงไม่เพียงพอสำหรับการป้องกันความเสียหาย เมื่อเกิดเหตุการณ์ “น้ำท่วม”
สำหรับผู้ที่ต้องการความคุ้มครองที่ครอบคลุมไปถึงกรณีน้ำท่วมบ้านที่เป็นภัยธรรมชาติ รวมถึงภัยจากน้ำที่เกิดขึ้นภายนอกตัวบ้าน สามารถซื้อความคุ้มครองเพิ่มเติมสำหรับคุ้มครองกรณี “น้ำท่วม” ดังนั้น การทำประกันภัยที่อยู่อาศัยจะครอบคลุมน้ำท่วมได้ก็ต่อเมื่อเงื่อนไขของประกันภัยแพ็คเกจนั้นๆ ระบุว่าคุ้มครอง “ภัยน้ำท่วม” ดังภาพต่อไปนี้

ข้อควรรู้ก่อนซื้อประกันสำหรับที่อยู่อาศัย สำหรับผู้ที่ต้องการความคุ้มครองในสถานการณ์ต่างๆ การทำประกันภัยบ้าน เพื่อให้ครอบคลุมค่าเสียหายส่วนใหญ่ได้ เช่น ประทำประกันอัคคีภัย และเบี้ยประกันต่อปีจะถูกลงตามระยะเวลาเอาประกันที่ทำนานขึ้น หากทำประกันมากกว่าหนึ่งประกัน เมื่อเกิดความสูญเสียประกันแต่ละบริษัท/แต่ละประกัน จะหารความรับผิด (ผู้เอาประกันจะไม่ได้เงินประกันเกินกว่าที่ประเมินความเสียหาย)
- ประกันที่อยู่อาศัย เพิ่มเติมกรณีน้ำท่วม คุ้มครองทรัพย์สินใดบ้าง
ประกันภัยที่อยู่อาศัย แต่ละแพ็คเกจมีความคุ้มครองสิ่งปลูกสร้างที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ รวมถึงจำนวนเบี้ยประกันที่ต่างกันออกไป โดยส่วนใหญ่จะคุ้มครอง 2 ส่วนหลัก คือ “สิ่งปลูกสร้าง” ได้แก่ บ้าน ทาวน์เฮาส์ บ้านแฝด ตึกแถวสำหรับอยู่อาศัย โรงรถ และอาคารย่อย เช่น เรือนคนใช้ รวมถึงกำแพง รั้ว ประตู และส่วนปรับปรุงต่อเติม ห้องชุดสำหรับอยู่อาศัยในแฟลต อาคารชุด คอนโดมิเนียม
บางแพ็คเกจประกันภัยจะครอบคลุมถึง “ของในบ้าน” เช่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องตกแต่ง เครื่องมือ เครื่องใช้ภายในบ้าน เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้าน เครื่องดนตรี เครื่องเสียง เครื่องครัว เครื่องนุ่งห่ม และทรัพย์สินเพื่อการอยู่อาศัยอื่นๆ ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่ต้องการความคุ้มครองไปถึงเฟอร์นิเจอร์ หรือสิ่งของที่อยู่ภายในบ้านด้วย จะต้องตรวจสอบ “เงื่อนไข” ของประกันให้ตรงตามความต้องการ ซึ่งอาจมีเบี้ยประกันเพิ่มมากขึ้น หรือมีเงื่อนไขบางอย่างต่างออกไปจากประกันภัยแบบปกติ ดังนั้น ก่อนทำประกันภัยจึงจำเป็นต้องตรวจสอบเงื่อนไข ให้ตรงกับจุดประสงค์ด้วย เนื่องจากสินทรัพย์ที่ได้รับความคุ้มครองขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของประกันภัยแต่ละแพ็คเกจและแต่ละบริษัท
หรือในกรณีที่ต้องการประกันความเสียหายกรณีน้ำท่วมหรือภัยพิบัติต่างๆ สำหรับ “ทรัพย์สินมีค่า” ที่มีมูลค่าสูง อาจเลือกวิธีการทำ “ประกันภัย” ทรัพย์สินแต่แยกต่างหาก เช่น กล้อง คอมพิวเตอร์ เครื่องเสียง กระเป๋าแบรนด์เนม ฯลฯ ซึ่งการทำประกันโดยเฉพาะเจาะจงสินทรัพย์จะคุ้มครองได้ครอบคลุมลักษณะอาการมากกว่า และตรงจุดมากกว่า
ที่มา: สมาคมประกันภัยวินาศภัยไทย คปภ.